ประวัติโรงเรียนสมุทรปราการ                                         หน้าที่ ๓

พ.ศ. 2435 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานกระทรวงธรรมการ จัดการศึกษาให้เป็นแบบแผน โดยแบ่งการเล่าเรียนเป็นลำดับชั้น บรรดาการเล่าเรียนในชั้นแรกเรียกว่า มูลศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ

โรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำ ให้สอนเพียง เขียน อ่าน คิดเลข 4 แม่ (บวก ลบ คูณ หาร)
โรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง ให้สอน เขียน อ่าน แต่งข้อความ ไวยากรณ์ คิดเลข พระราชพงศาวดาร ภูมิศาสตร์ วิทยาการตามแบบเรียน เป็นต้น

จากหลักฐาน “แจ้งความกระทรวงธรรมการแผนกศึกษาธิการ” ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 12 หน้า 270-271 ความว่า ด้วยโรงเรียนมูลศึกษาวัดกลางเมืองสมุทรปราการ ได้เปิดทำการสอนมาหลายปี แต่ผู้บำรุง (ผู้อุปการะ) และครูได้บอกลาจากการในโรงเรียน ต่อมาภายหลังท่านพระครูสุนทรสมุทร์ เจ้าคณะใหญ่ ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ตั้งพิธีเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114) เวลาบ่าย 3 โมงเศษ พระสงฆ์ถานานุกรม 95 รูป เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นวันที่ 4 ทายกถวายอาหารบิณฑบาตรแล้ว พระครูสุนทรสมุทร์ได้จัดให้ นายบุตร นักเรียนประโยค 1 เป็นครู เริ่มลงมือสอนตั้งแต่ 3 โมงเช้าเป็นต้นไป

มีนักเรียนในคราวแรกนี้ 54 คน มีบรรดาทายกผู้ลงชื่อรับบำรุงทุกเดือน 19 คน ได้เงินเดือนละ 26 บาท 3 สลึงถ้วน

ต่อมานายบุตร อาจารย์โรงเรียนวัดกลางเมืองสมุทรปราการ ได้ยื่นรายงานถึง พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ว่า พระครูสุนทรสมุทร์ ผู้อุปการะได้มอบหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม 1 จำนวน 5 เล่ม , กระดานชนวนศิลา 48 แผ่น , พระปลัดจ้อย ให้โต๊ะกลม 1 โต๊ะ , เก้าอี้ 1 ตัว , ท่านพระยาสมุทรบุรารักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ ให้เงิน 16 บาท , นายบุตร อาจารย์ให้หนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม 1 จำนวน 5 เล่ม , เลขวิธีที่ 1 จำนวน 5 เล่ม , เลขวิธีที่ 2 จำนวน 5 เล่ม , กระดานชนวนศิลา 9 แผ่น , กระดาษฝรั่งมีไม้บรรทัด 15 โหล , หมึกดำ 6 ขวด , ปากกา 1 หีบ , ด้ามปากกา 6 ด้าม ระหว่างเวลาที่ล่วงเลยมา การศึกษาหนังสือไทยก็ได้เล่าเรียนยู่ที่ศาลากลางอาวาสเจริญเป็นลำดับมา หลวงอารักษ์ดรุณพล (ม้วน บุรารักษ์) ได้เป็นครูใหญ่วัดกลางนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 และในปีเดียวกันพระปลัดจ้อย ผู้ปกครองวัดได้จัดการสร้างสถานที่เรียนหนังสือไทยขึ้นแห่งหนึ่งในที่ดินของวัดด้านทิศตะวันออก พระสาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพ ฯ ให้นามว่า “โรงเรียนสุนทรสมุทร์ที่ 5”

ต่อมาปี พ.ศ. 2445 พระปลัดจ้อย ได้จัดตั้งการศึกษาสำหรับสตรีขึ้น อาศัยโรงมหรสพเรียนเป็นการชั่วคราว โดยมีนายอยู่เป็นครูคนแรก ต่อมาพระปลัดจ้อยได้รับพระราชทานสัญญาบัตร สมณศักดิ์ เป็นพระครูสุนทรสมุทร์ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางก็ได้จัดการบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมและฝ่ายหนังสือไทยเจริญแพร่หลายเป็นลำดับ

พ.ศ. 2446 พระครูสุนทรสมุทร์จ้อย ได้จัดสร้างสถานที่เรียนสำหรับสตรีอย่างถาวรมีนามว่า “โรงเรียนสมุทรสตรี”

พ.ศ. 2459 นายประยงค์ พันธุบรรยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่แทนหลวงอารักษ์ ดรุณพล ที่ถูกแต่งตั้งไปเป็นธรรมการจังหวัดสมุทรปราการ

พ.ศ. 2460 กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนวัดกลางเป็น “โรงเรียนมัธยมวัดกลาง” และในปีนี้เองที่ได้ขยายโรงเรียนมัธยมวัดกลางขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โดยย้าย ม.1 – 2 จากวัดกลางมาเรียนที่อาคารเรือนแสงเฮี๊ยะ ซึ่งอาศัยที่ดินของวัดพิชัยสงคราม (วัดนอก) เป็นที่ก่อสร้างพ.ศ. 2465 ขุนอภิรักษ์จรรยา (เปรื่อง ก้องสมุทร) เป็นครูใหญ่และเฉพาะที่วัดกลางก็เริ่มชั้นมัธยมปีที่ 6 เป็นปีแรก

พ.ศ. 2475 ได้ย้ายโรงเรียนหญิงจากโรงเรียนสมุทรสตรีที่วัดกลางมาเรียนที่อาคารแสงเฮี๊ยะ ส่วนนักเรียนชายที่เรียนอยู่เดิมให้กลับไปเรียนที่วัดกลาง

พ.ศ. 2476 ทางจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่เดิมของวัดกลางก็เต็มขยายไม่ออกเด็กต้องแยกย้ายกันเรียนหลายแห่ง ไม่สะดวกในการควบคุมจึงรายงานต่อกระทรวงศึกษาธิการขอยุบชั้นประถม

พ.ศ. 2477 นักเรียนสตรีที่เรียนจบชั้นมัธยมต้นไม่มีที่เรียนต่อ จึงขออนุญาตกระทรวง ศึกษาธิการเข้าเรียนรวมกัน กับนักเรียนชายแบบสหศึกษา

พ.ศ. 2478 การศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดกลางเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วปัญหาเรื่องที่เรียนไม่พอ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเงิน 1,000 บาทมาสมทบกับคณะกรรมการดำเนินงานหาทุนสร้างอาคารเรียนเอกเทศได้เงินทั้งสิ้น 13,000 บาท และสร้างแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2479

ต่อมาทางจังหวัดได้ทำรายงานเสนอกระทรวงศึกษาธิการขอเงินการกุศลมาสร้างอาคารเรียนเอกเทศหลังที่ 2 ในที่สุสานของวัดแต่มีเงินจำกัด การก่อสร้างไม่เต็มรูปแบบที่ขอไป ทางโรงเรียนจึงหาเงินมาสมทบสร้างจนแล้วเสร็จ