ประวัติโรงเรียนสมุทรปราการ                                         หน้าที่ ๒

วันเสาร์ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247 (พ.ศ. 2428) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอพระราชทานทำรายงานโรงเรียนขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงทราบ ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า “…ในรายงานฉบับก่อนมีโรงเรียน 23 แห่ง , อาจารย์ 54 คน , นักเรียน 1,363 คน ล่วงมาจนถึงเวลานี้มีโรงเรียนทั้งสิ้น 28 แห่ง , อาจารย์ 73 คน , นักเรียน 1,955 คน มากกว่าในรายงานครั้งก่อน คือ โรงเรียน 5 แห่ง , อาจารย์ 19 คน , นักเรียน 590 คน ซึ่งในจำนวน 5 แห่งนี้ มีแขวงเมืองสมุทรปราการรวมอยู่ด้วยแห่งหนึ่ง มีจำนวนนักเรียน 60 คน ดังตัวอย่างของแผนกการศึกษาถึงจำนวน ครู นักเรียน ในเดือน 2-3-4 พ.ศ. 2428 ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมี พระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และทวยราษฎร์ทั้งหลายทราบว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า การวิชาหนังสือ เป็นต้นเค้าของวิชาความรู้ทั้งปวง สมควรที่จะทะนุบำรุงให้เจริญ รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปเพราะคนในพื้นบ้านเมืองสยาม ของเราไม่รู้หนังสือไทย ยังมีอีกมากที่พอรู้อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ถูกถ้วนนั้นก็มีมาก เพราะโรงเรียนที่สอนวิชา ตามแบบหลวงยังมีน้อยอีกทั้งมีพระประสงค์จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และทวยราษฎร์ทั้งปวงได้เล่าเรียนหนังสือไทยโดยละเอียดตามแบบที่ถูกต้อง จึงสละราชทรัพย์ออกตั้งโรงเรียนและจ้างครูสอนทำนุบำรุงการเล่าเรียน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก และยังมีพระราชดำริ จะให้ตั้งโรงเรียนตามพระอารามหลวงทุก ๆ พระอารามทำให้ประชาชนตื่นเล่าลือกันว่า ที่โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง โรงเรียนนั้น เพราะพระราชประสงค์จะเก็บเด็กนักเรียนเป็นทหาร ความทราบใต้ฝ่าละอองธุรีพระบาท จึงประกาศ ณ วันศุกร์ เดือน 6 แรม 3 ค่ำ ปีระกา สัปตศก พ.ศ. 2428 ว่า “…อย่าให้ผู้ใดพลอยตื่นเต้นเชื่อฟังคำเล่าลือเป็นอันขาด คนที่ชักชวนเป็นทหารก็มีอยู่พวกหนึ่งต่างหาก ไม่ต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมเด็กมาเป็นทหารเลย อนึ่ง เด็กทั้งปวงนี้ก็ล้วนเป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นด้วยกัน ถ้าจะเก็บเอามาเป็นทหารเสียตรง ๆ นั้นจะไม่ได้หรือ จะต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมให้ลำบากและเปลือง พระราชทรัพย์ด้วยเหตุใดถ้อยคำของคนหล่านั้นใคร ๆ ไม่ควรเชื่อ ใครมีบุตรหลานอยากให้ได้เล่าเรียนมีวิชาก็ส่งเข้าเรียนได้ อย่าได้คิด หวาดหวั่น” และด้วยความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัว ที่จะตั้งโรงเรียนให้แก่ประชาชนได้เล่าเรียนโดยทั่วกัน ในปี พ.ศ. 2429 จึงได้ตั้งโรงเรียนที่มีอยู่เดิมสำเร็จ 30 แห่ง คือ ในพระนคร 17 โรง , กรุงเก่า 5 โรง , อ่างทอง 2 โรง , ลพบุรี 1 โรง , อุทัยธานี 1 โรง , นครปฐม 1 โรง , ราชบุรี 1 โรง , เพชรบุรี 1 โรง และ วัดกลางเมืองสมุทรปราการ 1 โรง ให้วัฒนาถาวรขึ้นกว่าแต่ก่อนครั้นถึง พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นในกระทรวง ธรรมการ ก็เพราะมีพระราชประสงค ์จะจัดการศึกษาเล่าเรียนให้แพร่หลายออกไป อีกทั้งจำนวนนักเรียนโดยประมาณชั้นสูงเพียง 201 คน โรงเรียนภาษาอังกฤษ 206 คน โรงเรียนสามัญซึ่งตั้งในพระอารามต่างๆ ทั่วในพระนครและหัวเมืองรวม 51 ตำบล มีนักเรียน 2,360 คน โรงเรียนเชลยศักดิ์ 46 โรง นักเรียน 827 คน ยังเป็นการน้อยนักไม่สมดังพระประสงค์ ประกอบกับศิษย์วัดมักจะไม่ได้มาเรียน ถึงแม้จะให้มาเรียนก็ให้มาแต่น้อย จะมีก็แต่เด็กชาวบ้านที่บิดา มารดา ยอมสมัครให้มาเรียนเสียโดยมาก แต่เด็กเหล่านี้บ้างก็มา บ้างก็ไม่มา บางทีก็เลิกเรียนเสียทีเดียว ทำให้ไม่เป็นการแน่นอน จึงเป็นเหตุให้จำนวนนักเรียนน้อยไป จึงเป็นการสมควรที่จะจัดการแก้ไขให้การศึกษาหนังสือไทยแพร่หลายออกไป เพื่อให้ประชาราษฎร์ได้รับประโยชน์การเล่าเรียนเต็มบริบูรณ์ทั่วหน้ากัน